หากพูดถึง Streaming อันดับต้นๆ ที่หลายคนมีติดบ้านกันในยุคนี้ก็คงหนีไม่พ้น Netflix อย่างแน่นอน ซึ่งด้วยความสำเร็จของ Netflix นั้น ก็ไม่แปลกใจนักถ้าจะมีเจ้าอื่นๆ อีกมากมายตามมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น HBO Max, Disney +, Amazon Prime, Hulu รวมถึงเจ้าอื่นๆ ที่มีความเฉพาะทางของตัวเอง จนทำให้แต่ละเจ้านั้นคงต้องลงมาแข่งขันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงเวลาของคนดูและเงินค่าสมาชิกรายเดือนไปให้ได้มากที่สุด ผ่าน Content แบบ Exclusive ของตัวเอง ว่าใครจะมี Original Content ในแบบหาดูที่อื่นไม่ได้ที่เจ๋งกว่ากัน
แต่ในขณะที่แข่งขันกันอยู่นั้นทาง Netflix เองก็เพิ่งจะพาตัวเองก้าวออกมาจากจุดนั้น และหาทางสร้างรายได้เพิ่มเติมในแบบที่เจ้าอื่นก็ยังคิดไม่ถึง ด้วยการเปิดตัว Netflix Shop ขึ้นมา เพื่อขายสินค้าแบบ Exclusive จากหนังหรือซีรี่ส์ ที่เป็น Original Content ของตัวเอง ซึงนับว่าเป็นไอเดียที่ฉลาดมากๆ สำหรับการสร้างเพิ่มรายได้นอกจากค่าสมาชิก ไปสู่สินค้าลิขสิทธิต่างๆ นานา ที่สามารถผลิตออกมาได้หลายรูปแบบนับไม่ถ้วน และยิ่งคนใช้เยอะเท่าไรก็ยิ่งเป็นการโปรโมทแบรนด์ตัวเองไปในตัวอีก วันนี้ Uppercuz เลยอยากพาผู้อ่านมาสำรวจในโลกของ Netflix Shop ให้มากขึ้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วจะรุ่งหรือไม่กับแนวทางนี้
จริงอยู่ที่การนำลิขสิทธิ์ของคอนเทนท์มาขายเป็นสินค้าต่างๆ อาจดูไม่ใช่เรื่องใหม่ๆ และเหมือนหลายๆ แบรนด์ก็มีการทำกันมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่าง Disney เองก็มีสินค้าจากคอนเทนท์ตัวเองอยู่มากมาย ทั้งจาก Star Wars, Marvel หรือบรรดาเจ้าหญิงของตัวเองมาเป็นสินค้าที่ขายมาได้อยู่เสมอ จึงไม่แปลกใจนักหาก Netflix จะเลือกแนวทางนี้ตามมา เพราะ Netflix เองก็เริ่มเล็งเห็นถึงปัญหาการเติบโตที่ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการทะยานเติบโดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนรายได้จากการสมัครสมาชิกรายเดือนก็เริ่มมาถึงทางตันแล้ว
ทาง Netflix จึงต้องพยายามคิดหาวิธีเพิ่มรายได้ช่องทางอื่นขึ้นมา ซึ่งในตอนนั้นก็ได้ Josh Simon มาคุมในหน่วยงาน Consumer Products (สินค้าสำหรับผู้บริโภค) ซึ่งเขาเองก็เคยทำงานในส่วนที่คล้ายกันให้กับ Nike จนประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ ทำให้ Netflix ได้ไปดีลกับ Walmart, Amazon และ Sephora เพื่อเป็นแหล่งขายสินค้าจากภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่มีอยู่ จนสุดท้ายก็ได้ติดกับบริษัท Shoptify เพื่อให้มาทำเว็บไซต์ให้เพื่อขยับขยายมาสู่ตลาดออนไลน์บนเว็บไซต์ของตัวเองอย่างเต็มตัว
หากใครที่สนใจผลิตภัณฑ์จาก Netflix ก็สามารถ เข้าไปเลือกชม และเยี่ยมเยียนกันได้ที่ https://www.netflix.shop/ ซึ่งจากที่ร้านเพิ่งเปิดตัวมาในสัปดาห์ก่อน (วันที่ 10 มิถุนายน 2021) ในตอนนี้อาจจะมีสินค้าไม่เยอะมากนัก โดยจะเป็นเสื้อยืดจาก Animation ใน Netflix อย่าง “Eden & Yasuke” ที่ถูกนำมาใส่เป็นลายของเสื้อจากดีไซเนอร์อย่าง Nathalie Nguyen ซึ่งในช่วงสิ้นเดือนก็มีการออกสินค้าจากซีรี่ส์ฝรั่งเศสที่ได้รับความนิยมมากๆ ในตอนนี้อย่าง Lupin ที่เพิ่งจะฉายซีซั่น 2 กันไป โดยจะมีทั้งหมวกเบสบอล, เสื้อยืด, เสื้อกันหนาว ที่ใส่ความเป็น Lupin ลงไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีการวางแผนไปถึงซีรี่ส์ดังของทางค่ายที่เป็นนิยมอย่าง Stranger Thing, Money Heist และ Bridgerton ออกตามมาอย่างแน่นอน ในรูปแบบของสินค้าที่หลากหลายต่างก้ันออกไป และบอกเลยว่าราคาที่ตั้งขึ้นมานั้นไม่ได้ถูกเลย เพราะขนาดเสื้อยืดที่เห็นในเว็บไซต์นั้นยังมีราคาสูงถึงตัวละ $45 หรือคิดเป็นเงินที่ประมาณเกือบ 1,400 บาทเลยทีเดียว ซึ่งการที่ Netflix กล้าทำสินค้าออกมาขายเช่นนี้ ก็เพราะเล็งเห็นถึงความต้องการของลูกค้ากลุ่มใหญ่ ที่ต่างซื้อสินค้าจากภาพยนตร์หรือหนังที่พวกเขาชอบจากบรรดาร้านค้าที่ทำ Fan-Made อยู่แล้ว เลยตัดสินใจทำเองย่อมดีกว่าที่จะถูกรายอื่นๆ ละเมิดลิขสิทธิตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่เงินก็ไมไ่ด้เข้ากระเป๋าแต่อย่างใด
ด้วยแฟนคลับจำนวนมหาศาลของคอนเทนท์แต่ละเรื่อง ร้านค้าของ Netflix น่าจะมีโอกาสไปได้อีกไกลอย่างแน่นอน เพราะในตอนนี้ทาง Netflix ก็เริ่มมีการเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์และดีไซเนอร์คนดังต่างๆ นานา เพื่อทำ Brand Collaboration คือร่วมมือกันเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะออกสินค้าออกมาให้ได้มากที่สุด อย่างซีรี่ส์รักวัยรุ่นชื่อดังอย่าง To All the Boys I’ve Loved Before ก็มีทั้งเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากแบรนด์ H&M มีเครื่องสำอางค์ร่วมกับ Sephora กันไปแล้ว คิดว่าอนาคตเราน่าจะได้เห็นสินค้าจากภาพยนตร์ดี ซีรี่ส์ดังออกมาอีกหลายอย่างแน่นอน
ซึ่งแม้ว่ารายได้จากการขายสินค้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้มากถึงค่าสมาชิกที่ Netflix เองทำได้ แต่การทำเช่นนี้จะทำให้ Netflix มีความสัมพันธ์ที่ดีกับวงการแฟชั่นและสินค้าประเภทต่างๆ ได้อีกมากมาย และตรงนี้แหละที่จะมีส่วนในการขยายอาณาจักรของธุรกิจจาก Streaming ไปสู่ด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย ทำให้ตอนนี้ Netflix เองก็ยังไม่คิดที่จะลงทุนเปิดหน้าร้านตัวเองก่อน เพราะมองว่ามีช่องทางกระจายสินค้าทั้งจากพาร์ทเนอร์ และออนไลน์ที่ดีพออยู่แล้ว
นับเป็นก้าวที่เรียกได้ว่าน่าสนใจ สำหรับแนวทางของ Netflix ที่จะเป็น Retail Store หรือร้านขายของออนไลน์นี้ เพราะแน่นอนว่าหนังและซีรี่ส์แต่ละเรื่องของ Netflix นั้น มีฐานแฟนคลับ และยอดผู้ชมเป็นจำนวนมาก ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ก็ยิ่งทำให้พวกเขาทราบได้ว่า ใน Content แต่ละเรื่องนั้นกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาเป็นใคร และใช้เวลาไปกับการดูคอนเทนท์เหล่านี้มากมายขนาดไหน ทำให้ Netflix เองก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ได้อย่างละเอียดยิบ ก่อนที่จะเริ่มต้นออกสินค้ามาสักตัวด้วยซ้ำ ส่งผลให้พวกเขามีข้อได้เปรียบที่จะเข้าใจตลาดและกลุ่มผู้บริโภคอย่างแน่นอน
แต่ก็ไม่ใช่ว่าแนวทางนี้จะไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะต้องอย่าลืมว่ากระแสภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ต่างๆ ของ Netflix นั้น ออกมาในรูปแบบของ Seasonal จะมีไม่กี่เรื่องที่คงความเป็นอมตะเอาไว้ ทำให้สินค้าต่างๆ ที่ปล่อยออกมานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทำการตลาดในช่วงที่คอนเทนท์เหล่านั้นกำลังเป็นกระแสมากๆ เพราะหากมันฉายจบไปแล้ว หรือกระแสดับไป สินค้าเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมนัก และอาจจะต้องรอ Season ถัดไปมาฉาย ถึงจะได้กลับมารับความนิยมอีกครั้ง แต่อย่างบางเรื่องยิ่งถ้าโดนตัดจบไปอีกสินค้าเซตนั้นอาจกลายเป็นหมันเป็นเลยก็ได้
ทำให้ Netflix จึงอาจต้องพิจารณาให้ดีถึงการออกสินค้าแต่ละอย่างจากคอนเทนท์แต่ละเรื่อง เพราะด้วยลักษณะของสินค้าในรูปแบบที่มาแล้วก็ไปแบบนี้ อาจทำให้สู้เจ้าอื่นๆ ที่อาจจะออกมาแข่งขันในอนาคต อย่างเช่น Disney + ที่เป็นเจ้าตลาดของ Merchandise ภาพยนตร์ต่างๆ ในมือตัวเองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Star Wars, Marvel หรือเจ้าหญิง Disney ต่างๆ ที่จะเห็นได้ว่า จักรวาลเหล่านี้มีความแข็งแกร่งกว่า ทั้งในเรื่องความอมตะที่อยู่ข้ามมาหลายยุคหลายสมัย ที่ไม่ว่าจะผ่านไปเท่าไรก็ยังคงเป็นที่นิยมมาโดยเสมอ จนนับได้ว่าแม้จะคิดแนวทางนี้มาได้ แต่ก็แข่งขันกันเหนื่อยต่อไปจริงๆ
ในยามวิกฤติที่…
ช่วงเทศกาลวันแม…
ในยุคที่การเมือ…
หากใครที่ได้เคย…
ทุกวันนี้ในโลก …
ในช่วงนี้ที่วัค…